หน้าแรก -> บทสวดมนต์

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

พระอานนทเถรพุทธอุปัฎฐาก ได้กล่าวแสดงต่อคณะสงฆ์ ในการทําสังคายนา ครั้งที่ ๑ ว่าดังนี้.-

ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสีฯ

ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟังและพิจารณาตามพระดํารัสของพระองค์อย่างนี้ว่าฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่ควรปฏิบัติให้หนักไปในส่วนที่สุด ๒ อย่าง คือ

การประพฤติปฏิบัติตนเพื่อแสวงหาความสุขอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าปรารถนา ซึ่งเป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ต้องมีบ้านเรือน เป็นธรรมของคนผู้ครองเรือนผู้หนาไปด้วยกิเลส ไม่ใช่ธรรมอันจะนําจิตใจออกจากกิเลส ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย นี่อย่างหนึ่ง

และอีกอย่างหนึ่ง คือการประพฤติปฏิบัติด้วยการทรมานร่างกายให้ได้รับความลําบาก ซึ่งมีแต่ทำให้ใจเป็นทุกข์ทรมานอย่างเดียว ไม่เป็นทางนําจิตใจออกจากกิเลส และไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลายฯ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ เร่งหักโหมปฏิบัติธรรมจนเกินกําลัง เพื่อหวังจะได้บรรลุมรรคผลเร็วๆ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้รู้ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง โดยไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้นแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น สามารถทําดวงตาคือปัญญา ทําญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทําให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพานฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทําดวงตาคือปัญญา ทําญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพานที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น คือการปฏิบัติอย่างไร?

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนี้ คือทางนําไปสู่ความไกลจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย มี ๘ อย่างฯ ข้อปฏิบัติเหล่านี้คือ

ปัญญาอันเห็นชอบ (คือเห็นอริยสัจ)

ความดําริชอบ (คิดจะออกจากกาม ไม่คิดอาฆาตพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียน)

วาจาชอบ (ไม่พูดโกหก ไม่พูดคําหยาบ ไม่พูดคําส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล)

การงานชอบ (เว้นจากการทุจริต เช่น โกงแรงงานเขาเป็นต้น และทําการงานที่ไม่มีโทษ)

การเลี้ยงชีวิตชอบ (หากินโดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ผิดประเพณี)

ความเพียรชอบ (เพียรละชั่ว ประพฤติดี เพื่อให้มีคุณธรรมประจําใจ และเพื่อให้ได้คุณธรรมสูงยิ่งๆ ขึ้นไป)

การระลึกชอบ (ระลึกนึกถึงอนุสสติ ๑๐ ประการ มีพระนิพพานเป็นที่สุด และระลึกในมหาสติปัฎฐาน ๔)

การตั้งจิตไว้ชอบ (การทําสมาธิให้อารมณ์ตั้งมั่นในอนุสสติ ๑๐ ประการนั้น)ฯ

(หรือกล่าวโดยย่อ มรรค ๘ ประการนี้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางเหล่านี้แล คือข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทําดวงตาคือปัญญา ทําญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทําให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพาน ที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สภาวะเหล่านี้แลเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ

ความเกิด ก็เป็นทุกข์

เมื่อความแก่เข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์

เมื่อความตายเข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์

เมื่อความเศร้าโศก ความร่ำไรรําพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจเกิดขึ้นมา ก็เป็นทุกข์

เมื่อประสบพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์

เมื่อพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์

และแม้คิดปรารถนาอยากได้สิ่งใด แต่ไม่ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา ก็เป็นทุกข์

กล่าวโดยย่อแล้วก็คือ การหลงคิดว่าร่างกายเป็นของเราของเขานั่นแล เป็นตัวทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้แลเป็นต้นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง

คือมีความอยากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป และมีความกําหนัดยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าปรารถนา ก็เป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์

สิ่งใดที่ยังไม่มี ก็คิดอยากจะให้มีขึ้นมา อย่างนี้ก็ทําให้ใจเกิดทุกข์

และเมื่อมีทุกอย่างสมปรารถนาแล้ว ก็อยากจะให้ทุกอย่างคงทนอยู่ตลอดไป เมื่อมันจะต้องสลายหายไป ก็ร้อนใจไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ก็ยิ่งทําให้ใจเกิดทุกข์หนักขึ้นอีกฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การดับตัณหาความอยากให้หมดไปจากใจด้วยการ ละ วาง ปล่อย และไม่คิดยินดีพัวพันอยู่กับตัณหาความอยากนั้นอีกเด็ดขาด คือการดับทุกข์ให์หมดไปจากใจได้อย่างแท้จริงฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเพื่อนํากิเลสให้หมดไปจากใจนี้ มี ๘ อย่าง คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดําริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตไว้ชอบ คือข้อปฏิบัติเพื่อนําใจให้หมดจากกิเลสและดับความทุกข์ได้อย่างแท้จริงฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไรรําพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจ เป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้ เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรกําหนดรู้ตลอดเวลา”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้หยั่งรู้ด้วยปัญญาโดยตลอดแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้เป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องละให้ขาด”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ละขาดไปจากใจแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดนี้ให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องทําให้แจ้งในใจตลอดเวลา”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุด ให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ทําให้แจ้งในใจอยู่ตลอดเวลาแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “มรรคคือทาง ๘ ประการ เป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นธรรมที่ต้องทําให้มีในใจไว้ตลอดเวลา”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ทําให้มีในใจไว้ตลอดเวลาแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริง ๔ อย่าง อันทําให้ใจห่างไกลจากกิเลสนี้ ถ้าหากเรายังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์หมดจดของเราเพียงใดแล้วฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราก็ไม่กล้าประกาศยืนยันแก่มนุษยโลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ให้ได้รู้พียงนั้น ว่าเราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรูโดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใดๆ หรือของใครๆ จะเทียบได้ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ความจริง ๔ อย่าง อันทําให้ใจห่างไกลจากกิเลสนี้ เราได้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์หมดจดแล้วฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้นเราจึงกล้าประกาศยืนยันแก่มนุษยโลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ให้ได้รู้เฉพาะว่า เราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้โดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใดๆ หรือของใครๆ จะเทียบได้ฯ

ก็แล ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า “กิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย ไม่สามารถจะกําเริบขึ้นมาได้อีกแล้ว จิตของเราได้หลุดพ้นจากกิเลสโดยวิเศษแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราแล้ว บัดนี้ไม่มีภพเป็นที่เกิดสําหรับเราอีกแล้ว”ฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงความจริง ๔ อย่างอันประเสริฐ อันทําให้ใจห่างไกลจากกิเลสอย่างนี้แล้วฯ

พระภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็มีความเพลิดเพลินยินดีในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแล้วนั้นฯ

ก็ในเมื่อขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกล่าวแสดงความละเอียดพิสดารแห่งความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการอยู่นั่นแล

ดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรม ซึ่งปราศจาก จากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแล้วแก่ท่านโกณฑัญญะผู้มีอายุอย่างนี้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้น ๆ ทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา”

ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงประกาศวงล้อแห่งธรรมให้เป็นไปแล้วนั่นแล

ภูมิเทวดาทั้งหลาย ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า

“นั่นคือวงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียบได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งวงล้อแห่งธรรมอย่างนี้ อันสมณพราหมณ์ ตลอดถึงเทวดา มาร พรหม และใครๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้”

เทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราช ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าภูมิเทวดาแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์ ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็ส่งสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นยามา ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิต ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นยามาแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าที่เกิดในหมู่พรหม ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า

“นั่นคือวงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียบได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งวงล้อแห่งธรรมอย่างนี้ อันสมณพราหมณ์ ตลอดถึงเทวดา มาร พรหม และใครๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้”ฯ

และโดยขณะเดียวเท่านั้น เสียงก็ดังขึ้นถึงพรหมโลกด้วยอาการอย่างนี้ฯ

และเสียงนี้ได้สะท้านสะเทือนหวั่นไหว ดังสนั่นไปตลอดทิศทั้ง ๔ ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุฯ

อีกทั้งแสงสว่างอันใหญ่ยิ่งไม่มีประมาณ ได้ปรากฎแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายเสียหมดฯ

ในลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า “โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ”ฯ (อัญญาสิ - ได้รู้แล้ว)

เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานขึ้นมาอย่างนี้แล นามว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” นี้นั่นแหละ ได้มีแล้วแก่พระโกณฑัญญะผู้มีอายุด้วยประการฉะนี้ แลฯ


บอร์ดธรรมะ


อนัตตลักขณสูตร


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

พระอานนทเถรพุทธอุปัฎฐาก ได้กล่าวแสดงต่อคณะสงฆ์ ในการทําสังคายนาครั้งที่ ๑ ว่าดังนี้.-

ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีฯ

ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟังและพิจารณาตามพระดํารัสของพระองค์อย่างนี้ว่าฯ

ภิกษุทั้งหลาย รูป คือร่างกายนี้ เป็นอนัตตา ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ มิใช่เป็นตัวตนของเราหริือของใครๆ ไม่สามารถจะบังคับบัญชามันได้ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้ารูปคือร่างกายนี้เป็นอัตตาคือตัวตนของเราแล้วไซร์

รูปคือร่างกายนี้ ก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ทรมานทําให้ลําบากใจ

เราย่อมได้ทุกอย่างจากร่างกายดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่า ขอร่างกายของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย ก็ย่อมได้ดังใจปรารถนาฯ

แต่ว่าภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปคือร่างกายนี้ เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ จึงบังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงเป็นไปเพื่อความทุกข์ทรมานทําให้ลําบากใจ

และเมื่อรูปคือร่างกายมันไม่ใช่ของเราเช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมไม่ได้ทุกอย่างจากร่างกายดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่า ขอร่างกายจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย ก็ย่อมไม่ได้ดังใจปรารถนาฯ

เวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ ไม่สามารถจะบังคับบัญชามันได้ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์นี้ เป็นอัตตาคือตัวตนของเราแล้วไซร้

เวทนานี้ก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ทรมานทําให้ลําบากใจ

เราย่อมได้ทุกอย่างจากเวทนาดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่า ขอให้เราจงมีแต่ความรู้สึกที่เป็นสุขตลอดไปเถิด อย่ามีความรู้สึกที่เป็นทุกข์เลย ก็ย่อมได้ดังใจปรารถนาฯ

แต่ว่าภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์นี้เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ จึงบังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงเป็นไปเพื่อความทุกข์ทรมานทําให้ลําบากใจ

และเมื่อเวทนามันไม่ใช่ของเราเช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมไม่ได้ทุกอย่างจากเวทนาดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่าขอให้เราจงมีแต่ความรู้สึกที่เป็นสุขตลอดไปเถิด อย่ามีความรู้สึกที่เป็นทุกข์เลย ก็ย่อมไม่ได้ดังใจปรารถนาฯ

สัญญา คือความจํา เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ ไม่สามารถจะบังคับบัญชามันได้ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าสัญญาคือความจํานี้ เป็นอัตตาคือตัวตนของเราแล้วไซร้

สัญญานี้ก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่อทําให้ลําบากใจ

เราย่อมได้ทุกอย่างจากสัญญาดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่า ขอให้เราจงมีแต่ความจําที่ดีตลอดไปเถิด อย่ามีความจําที่ไม่ดีเลย ก็ย่อมได้ดังใจปรารถนาฯ

แต่ว่าภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาคือความจํานี้ เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ จึงบังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงต้องเสื่อมไปทําให้ลำบากใจเพราะความจําไม่ได้

และเมื่อสัญญามันไม่ใช่ของเราเช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมไม่ได้ทุกอย่างจากสัญญาดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่าขอให้เราจงมีแต่ความจําที่ดีตลอดไปเถิด อย่ามีความจำที่ไม่ดีเลย ก็ย่อมไม่ได้ดังใจปรารถนาฯ

สังขาร คือความคิดดีและชั่ว เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ ไม่สามารถจะบังคับบัญชามันได้ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าสังขารคือความคิดดีและชั่วนี้ เป็นอัตตาคือตัวตนของเราแล้วไซร้

สังขารนี้ก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ทรมานทําให้ลําบากใจ

เราย่อมได้ทุกอย่างจากสังขารดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่า ขอให้เราจงมีแต่ความคิดที่ดีตลอดไปเถิด อย่ามีความคิดชั่วเลย ก็ย่อมได้ดังใจปรารถนาฯ

แต่ว่าภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขารคือความคิดดีและชั่วนี้ เป็นอนัตตามิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ จึงบังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงชอบคิดถึงแต่เรื่องราวที่ทําให้ลําบากใจ

และเมื่อสังขารมันไม่ใช่ของเราเช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมไม่ได้ทุกอย่างจากสังขารดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่าขอให้เราจงมีแต่ความคิดที่ดีตลอดไปเถิด อย่ามีความคิดชั่วเลย ก็ย่อมไม่ได้ดังใจปรารถนาฯ

วิญญาณ คือความรู้สึกสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งดีและไม่ดี เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ ไม่สามารถจะบังคับบัญชามันได้ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าวิญญาณนี้เป็นอัตตาคือตัวตนของเราแล้วไซร้

วิญญาณนี้ก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ทรมานทําให้ลําบากใจ

เราย่อมได้ทุกอย่างจากวิญญาณดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่า ขอให้เราจงมีแต่ความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งที่ดีตลอดไปเถิด อย่ามีความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ดีเลย ก็ย่อมได้ดังใจปรารถนาฯ

แต่ว่าภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณนี้ เป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆ จึงบังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงเป็นไปเพื่อความทุกข์ทรมานทําให้ลําบากใจ

และเมื่อวิญญาณมันไม่ใช่ของเราเช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมไม่ได้ทุกอย่างจากวิญญาณดังใจปรารถนา คือถ้าปรารถนาว่าขอให้เราจงมีแต่ความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งที่ดีตลอดไปเถิด อย่ามีความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ดีเลย ก็ย่อมไม่ได้ดังใจปรารถนาฯ

ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในรูปคือร่างกายนี้ เป็นอย่างไร?

ภิกษุทั้งหลาย เราขอถามว่า รูปคือร่างกายนี้มันมีสภาพเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้าฯ

ก็ถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้าฯ

และเมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ และมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาแล้วไซร้ เป็นการสมควรแล้วหรือที่จะคิดว่า ร่างกายนี้เป็นเรา เราคือร่างกายอย่างนั้นอย่างนี้ และร่างกายนี้เป็นตัวตนของเรา?

ไม่สมควรที่จะคิดเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้าฯ

ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์นี้ เป็นอย่างไร? ภิกษุทั้งหลายเราขอถามว่า เวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์นี้ มันมีสภาพเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้าฯ

ก็ถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

เป็นทุกขฺ์ พระพุทธเจ้าข้าฯ

และในเมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ และมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาแล้วไซร้ เป็นการสมควรแล้วหรือที่จะคิดว่า เวทนานี้เป็นเรา เราคือเวทนาอย่างนั้นอย่างนี้ และเวทนานี้เป็นตัวตนของเรา?

ไม่สมควรที่จะคิดเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้าฯ

ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในสัญญาคือความจํานี้ เป็นอย่างไร?

ภิกษุทั้งหลาย เราขอถามว่า สัญญาคือความจํานี้ มันมีสภาพเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้าฯ

ก็ถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้าฯ

และในเมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ และมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาแล้วไซร้ เป็นการสมควรแล้วหรือที่จะคิดว่า ความจํานี้เป็นเรา เราคือความจําอย่างนั้นอย่างนี้ และความจํานี้เป็นตัวตนของเรา?

ไม่สมควรที่จะคิดเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้าฯ

ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในสังขารคือความคิดดีและชั่วนี้เป็นอย่างไร? ภิกษุทั้งหลาย เราขอถามว่าสังขารคือความคิดดีและชั่วนี้มันมีสภาพเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้าฯ

ก็ถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้าฯ

และในเมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ และมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาแล้วไซร้ เป็นการสมควรแล้วหรือที่จะคิดว่า ความคิดดีและชั่วนี้เป็นเรา เราคือความคิดดีและชั่วอย่างนั้นอย่างนี้ และความคิดดีและชั่วนี้เป็นตัวตนของเรา?

ไม่สมควรที่จะคิดเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้าฯ

ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในวิญญาณ คือความรู้สึกสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งดีและไม่ดีนี้ เป็นอย่างไร? ภิกษุทั้งหลายเราขอถามว่า วิญญาณคือความรู้สึกสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งดีและไม่ดีนี้ มันมีสภาพเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้าฯ

ก็ถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้าฯ

และในเมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ และมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาแล้วไซร้ เป็นการสมควรแล้วหริือที่จะคิดว่า ความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรา เราคือความรู้สึกสัมผัสอย่างนั้นอย่างนี้ และความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวตนของเรา?

ไม่สมควรที่จะคิดเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้าฯ

เพราะเหตุนั้นแลภิกษุทั้งหลาย รูป คือร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีแล้วในอดีตหรือที่จะพึงมีในอนาคต หรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน รูปภายในคือร่างกายที่เราอาศัยอยู่ รูปภายนอก คือร่างกายที่ผู้อื่นอาศัยอยู่

ทั้งหยาบและละเอียด

ทั้งเลวและประณีต

ทั้งอยู่ไกลและอยู่ใกล้

รูปคือร่างกายทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีสภาพไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ร่างกายอย่างนั้นอย่างนี้ และร่างกายนี้ก็มิใช่เป็นตัวตนของเราฯ

ท่านทั้งหลายพึงเห็นรูปคือร่างกายนี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้นเถิดฯ

เวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีแล้วในอดีต หรือที่จะพึงมีในอนาคต หรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน เวทนาภายใน คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดในใจเรา เวทนาภายนอกคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดในใจผู้อื่น

ทั้งหยาบและละเอียด

ทั้งเลวและประณีต

ทั้งอยู่ไกลและอยู่ใกล้

เวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีสภาพไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ เวทนานี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เวทนา อย่างนั้นอย่างนี้ และเวทนานี้ก็มิใช่เป็นตัวตนของเราฯ

ท่านทั้งหลายพึงเห็นเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์นี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้นเถิดฯ

สัญญา คือความจําอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีแล้วในอดีต หรือที่จะพึงมีในอนาคตหรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน สัญญาภายใน คือความจําของเรา สัญญาภายนอกคือความจําของผู้อื่น

ทั้งหยาบและละเอียด

ทั้งเลวและประณีต

ทั้งอยู่ไกลและอยู่ใกล้

สัญญาคือความจําทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีสภาพไม่เที่ยง มีแต่นำทุกข์มาให้ ความจํานี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ความจําอย่างนั้นอย่างนี้ และความจํานี้ก็มิใช่เป็นตัวตนของเราฯ

ท่านทั้งหลายพึงเห็นสัญญาคือความจํานี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้นเถิดฯ

สังขาร คือความคิดดีและชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีแล้วในอดีต หรือจะพึงมีในอนาคต หรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน สังขารภายใน คือความคิดดีและชั่วในใจเรา สังขารภายนอก คือความคิดดีและชั่วในใจผู้อื่น

ทั้งหยาบและละเอียด

ทั้งเลวและประณีต

ทั้งอยู่ไกลและอยู่ใกล้

สังขารคือความคิดดีและชั่วทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีสภาพไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ ความคิดดีและชั่วนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ความคิดดีและชั่วอย่างนั้นอย่างนี้ และความคิดดีและชั่วนี้ก็มิใช่เป็นตัวตนของเราฯ

ท่านทั้งหลายพึงเห็นสังขารคือความคิดดีและชั่วนี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้นเถิดฯ

วิญญาณ คือความรู้สึกสัมผัสกับ รูป เสียง กล่ิ่น รส สัมผัส ทั้งดีและไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีแล้วในอดีต หรือจะพึงมีในอนาคต หรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน วิญญาณภายใน คือความรู้สึกสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งดีและไม่ดีของเรา วิญญาณภายนอก คือความรู้สึกสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งดีและไม่ดีของผู้อื่น

ทั้งหยาบและละเอียด

ทั้งเลวและประณีต

ทั้งอยู่ไกลและอยู่ใกล้

วิญญาณคือความรู้สึกสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งดีและไม่ดีทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีสภาพไม่เที่ยง มีแต่นําทุกข์มาให้ ความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งต่างๆ อย่างนั้นอย่างนี้ และความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งต่างๆ นี้ก็มิใช่เป็นตัวตนของเราฯ

ท่านทั้งหลายพึงเห็นวิญญาณคือความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งต่างๆ นี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้นเถิดฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ยินได้ฟังและพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในรูปคือร่างกายด้วย

ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ด้วย

ย่อมเบื่อหน่ายในสัญญาคือความจําด้วย

ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารคือความคิดดีและชั่วด้วย

ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณคือความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ด้วย

เมื่ออริยสาวกเหล่านั้น มีความเบื่อหน่ายอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่คิดอยากจะเกาะติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลายฯ

เมื่อจิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลายแล้ว ก็มีความรู้ทราบแน่ชัดว่าหมดสิ้นความเกิดแล้ว ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปแล้ว เป็นการอยู่ในพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์หมดจดดีแล้ว กิจที่จะต้องทํา คือการตัดกิเลสก็ได้ทําเสร็จสิ้นแล้ว กิจอย่างอื่นที่จะต้องทําเพื่อความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสอย่างนี้ ก็ไม่มีอีกแล้วฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมอันชี้ชัดให้เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของมิใช่ตัวตนของเราหรือของใครๆ อย่างนี้แล้วฯ

พระภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นก็มีความเพลิดเพลินยินดี ในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแล้วนั้นฯ

ก็ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกล่าวแสดงความละเอียดพิสดารของธรรมอันชี้ชัดให้เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของมิใช่ตัวตนของเราหรือของใครๆ อยู่นั่นแล

จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย ไม่คิดอยากเกาะติดอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีกต่อไปแลฯ

บอร์ดธรรมะ


อาทิตตปริยายสูตร


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)


พระอานนทเถรพุทธอุปัฎฐาก ได้กล่าวแสดงต่อคณะสงฆ์ ในการทําสังคายนาครั้งที่ ๑ ว่าดังนี้.-

ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา พร้อมด้วยพระภิกษุพวกที่เคยเป็นชฎิลประมาณ ๑,๐๐๐ รูปฯ

ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติภิกษุเหล่านั้น ให้ตั้งใจฟังและพิจารณาตามพระดํารัสของพระองค์อย่างนี้ว่าฯ

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ชื่อว่าเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

ภิกษุทั้งหลาย ตา เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

รูป เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความคิดฟุ้งซ่านเมื่อตาได้เห็นรูปทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นเพราะตาได้เห็นรูป ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น ก็เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

เร่าร้อนเพราะอะไร?

เร่าร้อนเพราะไฟคือราคะที่เกิดขึ้นในใจ มีความยินดีอยากจะให้ตาได้เห็นรูปที่ถูกใจนั้นอีก, ร้อนเพราะไฟคือโทสะที่เกิดขึ้นในใจ มีความหงุดหงิดขัดเคืองใจ เพราะได้เห็นรูปที่ไม่ถูกใจ, ร้อนเพราะไฟคือโมหะที่เกิดขึ้นในใจ เพราะหลงคิดว่ารูปที่ถูกใจนั้นจะมีให้เห็นอยู่ตลอดกาล แต่สภาพทุกๆ อย่างจะคงอยู่ตลอดกาลไม่ได้ เพราะมันไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไป เสื่อมไป และต้องสลายไปเป็นธรรมดา,

ใจเร่าร้อนเพราะอยากให้รูปที่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก และใจเร่าร้อนเพราะไม่อยากให้รูปที่ไม่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก, ใจเร่าร้อนเพราะรูปที่ถูกใจนั้นจะต้องเสื่อมสลายไป, เร่าร้อนในใจ เพราะความโศกเศร้าคิดถึงรูปที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความร่ำไรรําพันใฝ่ฝันหารูปที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความพลัดพรากจากรูปที่ถูกใจนั้นและเพราะไม่สมหวังในรูปที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนใจเพราะความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะได้รูปที่ถูกใจนั้นกลับคืนมา, เร่าร้อนใจเพราะความคับแค้นใจในการที่ต้องสูญสิ้นความหวังในรูปที่ถูกใจนั้น,

เพราะเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า ตา และ รูป เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

หู เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

เสียง เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความคิดฟุ้งซ่านเมื่อหูได้ยินเสียงทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นเพราะหูได้ยินเสียง ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น ก็เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

เร่าร้อนเพราะอะไร?

เร่าร้อนเพราะไฟคือราคะที่เกิดขึ้นในใจ มีความยินดีอยากจะให้หูได้ยินเสียงที่ถูกใจนั้นอีก, ร้อนเพราะไฟคือโทสะที่เกิดขึ้นในใจ มีความหงุดหงิดขัดเคืองใจ เพราะได้ยินเสียงที่ไม่ถูกใจ, ร้อนเพราะไฟคือโมหะที่เกิดขึ้นในใจ เพราะหลงคิดว่าเสียงที่ถูกใจนั้นจะมีให้ฟังอยู่ตลอดกาล แต่สภาพทุกๆ อย่างจะคงอยู่ตลอดกาลไม่ได้ เพราะมันไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไป เสื่อมไป และต้องสลายไปเป็นธรรมดา,

ใจเร่าร้อนเพราะอยากให้เสียงที่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก และใจเร่าร้อนเพราะไม่อยากให้เสียงที่ไม่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก, ใจเร่าร้อนเพราะเสียงที่ถูกใจนั้นจะต้องเลือนหายไป, เร่าร้อนในใจเพราะความโศกเศร้าคิดถึงเสียงที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความร่ำไรรําพันใฝ่ฝันหาเสียงที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความพลัดพรากจากเสียงที่ถูกใจนั้น และเพราะไม่สมหวังในเสียงที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนใจเพราะความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะให้เสียงที่ถูกใจนั้นกลับคืนมาอีก, เร่าร้อนใจเพราะความคับแค้นใจในการที่ต้องสูญสียความหวังในเสียงที่ถูกใจนั้น,

เพราะเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า หู และ เสียง เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

จมูก เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

กลิ่น เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความคิดฟุ้งซ่านเมื่อจมูกได้ดมกลิ่นทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นเพราะจมูกได้ดมกลิ่นทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น ก็เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

เร่าร้อนเพราะอะไร?

เร่าร้อนเพราะไฟคือราคะที่เกิดขึ้นในใจ มีความยินดีอยากจะให้จมูกได้ดมกลิ่นที่ถูกใจนั้นอีก, ร้อนเพราะไฟคือโทสะที่เกิดขึ้นในใจ มีความหงุดหงิดขัดเคืองใจ เพราะได้ดมกลิ่นที่ไม่ถูกใจ, ร้อนเพราะไฟคือโมหะที่เกิดขึ้นในใจ เพราะหลงคิดว่ากลิ่นที่ถูกใจนั้นจะมีอยู่ตลอดกาล แต่สภาพทุกๆ อย่างจะคงอยู่ตลอดกาลไม่ได้ เพราะมันไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไป เสื่อมไป และต้องสลายไปเป็นธรรมดา,

ใจเร่าร้อนเพราะอยากให้กลิ่นที่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก และใจเร่าร้อนเพราะไม่อยากให้กลิ่นที่ไม่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก, ใจเร่าร้อนเพราะกลิ่นที่ถูกใจนั้นจะต้องจางหายไป, เร่าร้อนในใจเพราะความโศกเศร้าคิดถึงกลิ่นที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความร่ำไรรําพันใฝ่ฝันหากลิ่นที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจ เพราะความพลัดพรากจากกลิ่นที่ถูกใจนั้น และเพราะไม่สมหวังในกลิ่นที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนใจเพราะความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะให้กลิ่นที่ถูกใจนั้นกลับคืนมาอีก, เร่าร่้อนใจเพราะความคับแค้นใจในการที่ต้องสูญสิ้นความหวังในกลิ่นที่ถูกใจนั้น,

เพราะเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า จมูก และ กลิ่น เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

ลิ้น เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

รส เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความคิดฟุ้งซ่านเมื่อลิ้นได้ลิ้มรสทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นเพราะลิ้นได้ลิ้มรสทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น ก็เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

เร่าร้อนเพราะอะไร?

เร่าร้อนเพราะไฟคือราคะที่เกิดขึ้นในใจ มีความยินดีอยากให้ลิ้นได้ลิ้มรสที่ถูกใจนั้นอีก, เร่าร้อนเพราะไฟคือโทสะที่เกิดขึ้นในใจ มีความหงุดหงิดขัดเคืองใจ เพราะได้ลิ้มรสที่ไม่ถูกใจ, เร่าร้อนเพราะไฟคือโมหะที่เกิดขึ้นในใจ เพราะหลงคิดว่ารสที่ถูกใจนั้นจะมีอยู่ตลอดกาล แต่สภาพทุกๆ อย่างจะคงอยู่ตลอดกาลไม่ได้ เพราะมันไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไป เสื่อมไป และต้องสลายไปเป็นธรรมดา,

ใจเร่าร้อนเพราะอยากให้รสที่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก และใจเร่าร้อนเพราะไม่อยากให้รสที่ไม่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก, ใจเร่าร้อนเพราะรสที่ถูกใจนั้นต้องจางหายไป, เร่าร้อนในใจเพราะความโศกเศร้าคิดถึงรสที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความร่ำไรรําพันใฝ่ฝันหารสที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความพลัดพรากจากรสที่ถูกใจ และเพราะไม่สมหวังในรสที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนใจเพราะความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะให้รสที่ถูกใจนั้นกลับคืนมาอีก, เร่าร้อนใจเพราะความคับแค้นใจในการที่ต้องสูญสิ้นความหวังในรสที่ถูกใจนั้น,

เพราะเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า ลิ้น และ รส เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน”

กาย เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

สิ่งที่มาถูกต้องสัมผัสกาย เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความคิดฟุ้งซ่านเมื่อกายได้สัมผัสกับสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกายได้สัมผัสกับสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น ก็เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

เร่าร้อนเพราะอะไร?

เร่าร้อนเพราะไฟคือราคะที่เกิดขึ้นในใจ มีความยินดีอยากจะให้กายได้สัมผัสกับสิ่งที่ถูกใจนั้นอีก, เร่าร้อนเพราะไฟคือโทสะที่เกิดขึ้นในใจ มีความหงุดหงิดขัดเคืองใจ เพราะกายได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ, เร่าร้อนเพราะไฟคือโมหะที่เกิดขึ้นในใจ เพราะหลงคิดว่าสิ่งที่ถูกใจนั้นจะมีมาสัมผัสกายตลอดกาล แต่สภาพทุกๆ อย่างจะคงอยู่ตลอดกาลไม่ได้เพราะมันไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไป เสื่อมไป และต้องสลายไปเป็นธรรมดา,

ใจเร่าร้อนเพราะอยากให้มีสิ่งที่ถูกใจมาสัมผัสกายอีก และใจเร่าร้อนเพราะไม่อยากให้สิ่งที่ไม่ถูกใจนั้นมาสัมผัสกายอีก, ใจเร่าร้อนเพราะสิ่งที่มาสัมผัสกายอันถูกใจนั้นจะต้องเสื่อมสลายไป, เร่าร้อนในใจเพราะความโศกเศร้าคิดถึงสิ่งที่มาสัมผัสกายอันถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความร่ำไรรําพันใฝ่ฝันหาสิ่งที่มาสัมผัสกายอันถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่มาสัมผัสกายอันถูกใจนั้น และเพราะไม่สมหวังในสิ่งที่มาสัมผัสกายอันถูกใจนั้น, เร่าร้อนใจเพราะความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะให้สิ่งที่มาสัมผัสกายอันถูกใจนั้นกลับคืนมาอีก, เร่าร้อนใจเพราะความคับแค้นใจในการที่ต้องสูญสิ้นความหวังในสิ่งที่มาสัมผัสกายอันถูกใจนั้น,

เพราะเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า กาย และ สิ่งที่มาถูกต้องสัมผัสกาย เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

ใจที่มีความอยาก เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความคิดในเรื่องราวต่างๆ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นเพราะคิดในเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น ก็เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

เร่าร้อนเพราะอะไร?

เร่าร้อนเพราะไฟคือราคะที่เกิดขึ้นในใจ มีความยินดีอยากจะคิดในเรื่องราวที่ถูกใจนั้นอีก, เร่าร้อนเพราะไฟคือโทสะที่เกิดขึ้นในใจ มีความหงุดหงิดขัดเคืองใจ เพราะต้องคิดในเรื่องราวที่ไม่ถูกใจ, เร่าร้อนเพราะไฟคือโมหะที่เกิดขึ้นในใจ เพราะหลงคิดว่าเรื่องราวที่ถูกใจนั้นจะมีอยู่ตลอดกาล แต่สภาพทุกๆ อย่างจะคงอยู่ตลอดกาลไม่ได้ เพราะมันไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไป เสื่อมไป และต้องสลายไปเป็นธรรมดา,

ใจเร่าร้อนเพราะอยากให้มีเรื่องราวที่ถูกใจเกิดมีขึ้นมาอีก และใจเร่าร้อนเพราะไม่อยากให้เรื่องราวที่ไม่ถูกใจนั้นเกิดมีขึ้นมาอีก, ใจเร่าร้อนเพราะเรื่องราวที่ถูกใจนั้นจะต้องสูญสิ้นไป, เร่าร้อนในใจเพราะความโศกเศร้าคิดถึงเรื่องราวที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความร่ำไรรําพันใฝ่ฝันหาเรื่องราวที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนในใจเพราะความสูญเสียเรื่องราวที่ถูกใจนั้น และเพราะไม่สมหวังในเรื่องราวที่ถูกใจนั้น, เร่าร้อนใจเพราะความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะให้เรื่องราวที่ถูกใจนั้นกลับคืนมาอีก, เร่าร้อนใจเพราะความคับแค้นใจในการที่ต้องสูญสิ้นความหวังในเรื่องราวที่ถูกใจนั้น,

เพราะเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า ใจที่มีความอยาก และ ความคิดในเรื่องราวต่างๆ เป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอริยสาวกได้ยินได้ฟังและเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว

อริยสาวกเหล่านั้น ย่อมมีความเบื่อหน่าย ตา

ย่อมมีความเบื่อหน่าย รูปทั้งหลาย

ย่อมเบื่อหน่ายความคิดฟุ้งซ่านเมื่อตาได้เห็นรูปทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายความคิดอันฟุ้งซ่านอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะการที่ตาได้เห็นรูปที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ นั้น จึงไม่อยากคิดถึงตาและรูปทั้งหลายอีกต่อไป เพราะเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

อริยสาวกเหล่านั้น ย่อมเบื่อหน่าย หู

ย่อมเบื่อหน่าย เสียงทั้งหลาย

ย่อมเบื่อหน่ายความคิดฟุ้งซ่านเมื่อหูได้ยินเสียงทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายความคิดอันฟุ้งซ่านอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะการที่หูได้ยินเสียงที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ นั้น จึงไม่อยากคิดถึงหูและเสียงทั้งหลายอีกต่อไป เพราะมันเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

อริยสาวกเหล่านั้น ย่อมเบื่อหน่าย จมูก

ย่อมเบื่อหน่าย กลิ่นทั้งหลาย

ย่อมเบื่อหน่ายความคิดฟุ้งซ่านเมื่อจมูกได้ดมกลิ่นทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายความคิดอันฟุ้งซ่านอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะการที่จมูกได้ดมกลิ่นที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ นั้น จึงไม่อยากคิดถึงจมูกและกลิ่นทั้งหลายอีกต่อไป เพราะมันเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

อริยสาวกเหล่านั้น ย่อมเบื่อหน่าย ลิ้น

ย่อมเบื่อหน่าย รสทั้งหลาย

ย่อมเบื่อหน่ายความคิดฟุ้งซ่านเมื่อลิ้นได้ลิ้มรสทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายความคิดอันฟุ้งซ่านอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะการที่ลิ้นได้ลิ้มรสที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ นั้น จึงไม่อยากคิดถึงลิ้นและรสทั้งหลายอีกต่อไป เพราะมันเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนฯ

อริยสาวกเหล่านั้น ย่อมเบื่อหน่าย กาย

ย่อมเบื่อหน่าย สิ่งที่มาถูกต้องสัมผัสกาย

ย่อมเบื่อหน่ายความคิดฟุ้งซ่านเมื่อกายได้สัมผัสกับสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายความคิดอันฟุ้งซ่านอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะการที่กายได้สัมผัสกับสิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ นั้น จึงไม่อยากคิดถึงกายและสิ่งที่มาสัมผัสกายอีกต่อไป เพราะมันเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

อริยสาวกเหล่านั้น ย่อมเบื่อหน่าย ใจที่มีความอยาก

ย่อมเบื่อหน่าย ความคิดเรื่องราวต่างๆ

ย่อมเบื่อหน่ายความคิดฟุ้งซ่านเมื่อใจรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจนั้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายความคิดอันฟุ้งซ่านอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะการที่ใจมีอารมณ์ชอบคิดในเรื่องราวต่างๆ ที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ นั้น จึงไม่อยากคิดถึงใจที่มีความอยากและความคิดเรื่องราวต่างๆ อีกต่อไป เพราะมันเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อน

เมื่ออริยสาวกเหล่านั้น มีความเบื่อหน่ายอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่คิดยินดีอยู่ในสิ่งเหล่านั้นอีกฯ

เพราะไม่คิดยินดีอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลายฯ

เมื่อจิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลายแล้ว ก็มีความรู้ทราบชัดแน่นอนว่า หมดสิ้นความเกิดแล้ว ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปแล้ว เป็นการอยู่ในพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์หมดจดดีแล้ว กิจที่จะต้องทํา คือการตัดกิเลส ก็ได้ทําเสร็จส้ินแล้ว กิจอย่าง
อื่นที่จะต้องทําเพื่อความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสอย่างนี้ ก็ไม่มีอีกแล้วฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนอย่างนี้แล้วฯ

ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็มีความเพลิดเพลินยินดีในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแล้วนั้นฯ

ก็ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวแสดงความละเอียดพิสดารของธรรมอันเป็นเหตุทําให้ใจเร่าร้อนอยู่นั่นแล

จิตของภิกษุประมาณ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ก็หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย ไม่คิดยินดี ไม่คิดอยากจะเกาะติดอยู่ใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์คิดถึงเรื่องราวต่างๆ นั้นอีกต่อไปแลฯ

บอร์ดธรรมะ


บทอธิษฐาน

 

ผลแห่งการสร้างพระเครื่อง และเหล่าวัตถุมงคลอันเป็นมงคลทั้งหมดนี้ ขอน้อมกราบอธิษฐาน ขอพระอนุญาตสร้างเพื่อน้อมกราบถวายในนามแห่งพระรัตนตรัย และทุกๆ พระองค์ ในทุกๆ แดนพระนิพพานทั้งหมด ที่สูงสุดยอดแห่งที่สูงสูดยอดจริง เป็นอัปปมาโณจริง อย่างไร้ที่ติจริง ไม่มีสิ่งอื่นใดๆ จะเสมอเหมือนหรือเท่าเทียม หรือใกล้เคียงได้ ในทั้ง ต กาลจริง ในนามแห่งเหล่าพระโพธิสัตว์ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าพุทธบริษัท ๔ ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าท่านที่ได้เสียสละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต เพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตย์ ทั้งหมด ในทั้ง ๓ การจริง ในนามแห่งเหล่าพ่อ แม่ พระอุปัชฌาย์ ครู อาจารย์ ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าท่านที่มีพระคุณทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าฝ่ายปราบ-ฝ่ายโปรด ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าพรหมเทพ เทวดา ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าธาตุกายสิทธิ์ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าญาติทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง ในนามแห่งเหล่าสรรพธรรมชาติทั้งหมด ในทุกๆ มหาอนันตจักรวาลสากลพิภพ, ๓๑ ภูมิ, วัฏสงสาร, ที่ยังมีอวิชชา กิเลส ตัณหา อฺปาทาน ภพ ชาติ... ทั้งหมด ในทั้ง ๓ กาลจริง

และขอน้อมกราบอาราธนา อำนาจ อานุภาพ ในเหล่าผลบุญกุศลอานิสงส์บารมีทั้งหมดนี้ ที่ได้มารวมกัน เป็นพลังมังสามัคคี อย่างบริสุทธิ์ สมบูรณ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน ถูกต้องดีแล้วจริง ในทั้ง ๓ กาลจริง เพื่อขออุทิศไปให้ถึง แด่เหล่าท่านที่ใจดี ตัดใจเสียสละ ในวัตถุสิ่งของอันลํ้าค่า มามอบให้เป็นมวลสารทั้งหมด เหล่าท่านที่ร่วมสร้างถวายทั้งหมด เหล่าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งทางตรง และทางอ้อม เหล่าท่านที่ได้มีจิตใจเปี่ยมล้น ไปด้วยความเมตตา กรุณา ปราณี เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ให้การช่วยเหลือ ดูแล อำนวยในความสะดวก และในทุกๆ ประการ ในทั้งหมดทั้งสิ้น ขอน้อมกราบอาราธนาให้ได้รับในทั้งหมด ในทั้งสิ้น ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งส่วนตนและส่วนรวม ทั้งที่มีการสมมุติและทั้งที่การสมมุติไปไม่ถึง ให้ได้เหมือนทุกๆ พระองค์ ทุกๆ ท่าน และ ฯลฯ ทั้งหมดทำสิ้น ในทั้ง ๓ กาลจริง ได้ร่วมกันเป็นเจ้าของ ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ได้ร่วมกันเป็นประธาน ได้ร่วมกันสร้างเอง ถวายเอง ประเคนเองจริง ในทุกๆ ประการในทั้งหมดจริง จึงได้รับในเหล่าผลบุญกุศลอานิสงส์บารมีอย่าง ๑oo% เต็ม และสามารถบอกต่อกันไป ให้ได้รับในเหล่าผลบุญกุศลเหล่านี้ได้ตลอดไป พึงได้รับประโยชน์และความสูข อย่างสมหวังในทุกๆ ประการดั่งใจนึก แห่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ดูจอันหนึ่งอันเดียวกัน แห่งคุณพระศรีรัตนตรัย ในทั้ง ๓ กาลจริง จะพึงได้รับ โดยพร้อมเพรียงกัน โดยเร็วพลัน ในชาติปัจจุบัน เป็นเวลาโลกมนุษย์ ณ กาลบัดเดี่ยวนี้จริงด้วยเทอญ และในตลอดสิ้นกาลนานจริงด้วยเทอญ

เอวังโหตุ เอวังโหตุ เอวังโหตุ

สาธ สาธุ สาธุ


บุญกุศลที่เป็นของกลาง


เมื่อเราตั้งใจทำ ตั้งใจอาราธนา ตั้งอธิษฐาน ในสิ่งที่เราทำ ในทางโลก ทรัพย์สิน เงินทอง ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ถ้ายกให้ใคร ถ้าแบ่งให้ใคร ก็จะทำให้ลดน้อยลง แบ่งมากคน คนที่ได้รับ ก็จะได้น้อยลง อย่างมีเงิน 100 บาท ยกให้ 1 คน ก็ได้ 100 บาท ยกให้ 2 คน ก็ได้คนละ 50 บาท อย่างนี้เป็นต้น แต่บุญกุศล ที่เราทำ แล้วเราโมทนา ให้บุคคลอื่น ทั้งที่มีชีวิตอยู่ ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมมีผล ให้ผู้ที่เรานึกถึง ผู้ที่เราอุทิศให้ ย่อมได้รับแน่นอน จะได้มาก จะได้เร็ว จะได้ช้า สุดแล้วแต่ เหตุแห่งปัจจัย เหตุแห่งกรรม ทั้งกรรมดี ทั้งกรรมชั่ว ที่เจ้าของกรรม กำลังได้เสวยอยู่ กำลังได้ทนทุกข์อยู่ เป็นเรื่องละเอียด สุดที่เรา ที่เป็นผู้มีกิเลส จะรู้ได้หมด ที่นำมาบอกกล่าว ก็ฟังท่านมา ก็อ่านจากที่ท่านเขียนมา แล้วคิดเอาเองบ้าง พิจารณาเอาเองบ้าง แต่ด้วยปัญญาน้อย แต่ก็เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เชื่อมั่นในคำอาราธนา เชื่อมั่นในคำอธิษฐาน ว่าต้องสำเร็จได้ ว่าต้องเป็นจริง ได้อย่างแน่นอน อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ได้อ่าน ผู้ที่ได้เห็น ผู้ที่ได้พิจารณา ทั้งคิดปรุงแต่ง ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเราทำ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำด้วยความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา เชื่อมันในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในคุณแห่งพระรัตนตรัย ว่าเป็นที่สูงสุดยอดจริง ว่าเป็นอัปปมาโณจริง ว่าเป็นอย่างไร้ที่ติจริง เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน หรือเท่าเทียมได้จริง

ทานเป็นเรื่องขอการให้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เกี่ยวข้องกับตัวเขา เกี่ยวกับบุคคลอื่น เกี่ยวข้องกับสัตว์อื่น เกี่ยวข้องกับสิ่งของ เกี่ยวข้องทั้งโลกนี้ เกี่ยวข้องทั้งโลกหน้า เกี่ยวข้องทั้ง 31 ภูมิ เกี่ยวข้องทั้งทุก ๆ วัฎสงสาร มิรู้จบ แต่ถ้าทำชั่ว ไม่รักษาศีล 5 ก็เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้รับย่อมต่างกัน ทุกคนก็รู้ ทุกคนก็ทราบ คงไม่ต้องอธิบาย

เมื่อทาน เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ทำไมเราจะทำทาน ทำไมเราจะให้ทาน ที่ใช้ปัจจัย ที่หามาด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความเหนื่อยยาก ด้วยความขยัน ด้วยการเก็บเล็กเก็บน้อย ต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี จึงจะพอมี เพื่อทำสิ่งที่ตั้งใจ ทำอย่างต่อเนื่อง ก้าวไปที่ละขั้น เพื่อให้สิ่งที่ทำ ให้เป็นที่สุด ให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ และจะไม่หวนกลับ เพื่อไปทำซ้ำ เพราะยังไง ก็ไม่ดีกว่าเดิม จริงแท้แน่นอน เพราะได้ทุ่มเท ให้ไปหมดแล้ว ถามว่าแล้วรู้ได้ไง ก็ตอบว่าก็รู้ที่ใจ แม้ใครจะเชื่อ หรือไม่ก็ตาม นานาจิตตัง แค่นี้ก็คงเข้าใจ เมื่อสิ่งที่ทำ ให้เป็นของกลาง ให้เป็นของส่วนรวม ให้เป็นของโลก ให้เป็นของจักรวาล ให้เป็นของอนันตจักรวาล ให้เป็นของมหาอนันตจักรวาล ให้เป็นของทุก ๆ 31 ภูมิ ให้เป็นของทุก ๆ วัฎสงสาร และ ฯลฯ ทั้งหมดจริง

ส่วนใครจะได้รับ ส่วนใครจะไม่ได้รับ เราก็มิอาจจะรู้ รู้อยู่อย่างเดียว ว่าเราไม่ได้แบกไว้ ที่เราไม่มี ที่เราว่าง ที่เราสบาย เพราะเรายกให้หมดแล้ว

ขอให้ทำใจให้เป็นกลาง ทำใจให้สบาย ทำใจให้เป็นกุศล ทำใจให้เหมือนอย่างที่เคยทำ ที่เคยทำบุญ ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วแผ่อุทิศให้ ทำแล้วโมทนาบุญ เดินไปทางไหน เจอใครก็ยกบุญที่ทำให้เค้า ถ้าพูดอย่างนี้ ทุกคนก็เคยทำ ทุกคนก็เข้าใจ

บุญที่ท่านทำ บุญที่เรา บุญที่ใครต่อใครทำ แล้วโมทนาให้กัน แล้วอนุโมทนากัน นั่นแหละ มาครั้งนี้ ขอบุญกุศล ที่ทุก ๆ ท่าน ที่พวกเราทั้งหมดทำ ทำกันมา ตั้งแต่ชาติแรก จนมาถึงชาติปัจจุบันนี้ ณ เวลานี้ ขอจงรวมเป็นพลังมังสามัคคี เป็นพลังแห่งคุณงามความดี ให้ประชาชน ประเทศชาติ โลกมนุษย์ โลกต่างดาว จักรวาลสากลพิภพ ทุก ๆ 31 ภูมิ ทุก ๆ วัฎสงสาร ในที่ที่มีการสมมติ และในที่ที่การสมมติไปไม่ถึง ขอทุก ๆ พระองค์ ขอทุก ๆ ท่าน โปรดได้ร่วมเป็นเจ้าของ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพใหญ่ ได้ร่วมโมทนาในบุญใหญ่ จากต้นบุญกุศลอานิสงส์บารมีใหญ่แห่งเหล่าผู้สร้างทั้งหมด เหมือนได้ร่วมสร้างเอง ถวายเอง ประเคนเองจริง จึงได้รับในเหล่าผลบุญกุศลอานิสงส์บารมีใหญ่อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ขอพระยายมราชและแม่พระธรณี โปรดจงโมทนาส่วนกุศลนี้ แต่ขอได้โปรดจงเป็นสักขีพยาน ขอน้อมกราบถวายบูชาแด่คุณพระศรีรัตนตรัยที่สูงสุดยอดจริง เป็นอัปปมาโณจริง อย่างไร้ที่ติจริง ในตลอดทั่วทั้ง ๓ กาลจริงทั้งหมด ด้วยเทอญ

บทแผ่ส่วนกุศล


อิทัง โน ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย

ขอเหล่าผลบุญกุศลอานิสงส์บารมี ที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหมด ได้กระทำมาด้วยดีแล้วจริงทั้งหมด ในตลอดทั่วทั้ง ๓ กาลจริง จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหมด ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหมด จงมีความสูขและสมหวังอย่างสูงสุดยอดจริง ทั้งทางโลกและทางธรรม อย่างสุดที่จะนับประมาณมิได้ตลอดไป ตราบเท่าเข้าถึงพระนิพพานได้จริงด้วยเทอญ

ที่ไม่ได้เป็นไม่มี ที่ไม่ได้เป็นไม่มี ที่ไม่ได้เป็นไม่มี

เอวังโหต เอวังโหตุ เอวังโหตุ

ขอโมทนาสาธุ สาธุขอโมทนาม

ขอโมทนาสาธุ สาธุขอโมทนาม

ขอโมทนาสาธุ สาธุขอโมทนาม

ในในตลอดทั่วทั้งทุกๆ มหาอนันตธรรมชาติสรรพสัตว์จักรวาลสากลพิภพ ๓๑ ภูมิ ทุกๆ วัฏสงสาร ในทั้ง ๓ กาลจริงทั้งหมด ด้วยเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ

 

(เป็นบทที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคคม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทรงประทานเป็นครั้งแรกของพระพุทธศาสนา ให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร และทรงตรัสไว้ว่า "เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหมด ที่ได้เวียนว่ายตายเกิดจนนับครั้งไม่ถ้วน ในทุกๆ วัฏสงสารทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต ที่ไม่ได้เคยเกิดร่วมเป็นญาติกันป็นไม่มี")

สารบัญ